ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกคนทั่วโลก ทำให้มีอัตราคนตกงานจำนวนมากรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ที่จำนวนผู้ตกงานหรือถูกเลิกจ้างมีจำนวนมากขึ้นหลังเกิดโรคระบาด แต่ในขณะเดียวกันหลาย ๆ คนก็มีภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงหนี้สินที่ต้องชำระ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อเงินกู้ หรือผ่อนชำระสินค้าต่าง ๆ และทำให้เงินเริ่มขาดมือ เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน วันนี้เรามีบทความที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังตกงานและมีหนี้บัตรเครดิต ว่าจะมีวิธีจัดการหนี้จากบัตรเครดิตได้อย่างไรบ้าง
จัดการหนี้บัตรเครดิตอย่างไร เมื่อตกงาน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เช่น ถูกเลิกจ้าง บังคับให้ออกจากงาน หรือบริษัทปิดกิจการไป ทำให้เราตกอยู่ในสภาพคนตกงานในทันทีนั้น แต่ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระผ่อนจ่ายทุกเดือน จะจัดการอย่างไร
- สำรวจเสถียรสภาพทางการเงินของตนเองก่อน ว่าตอนนี้มีหนี้สินอะไรบ้างที่ต้องจ่ายนอกไปจากหนี้บัตรเครดิต และมีรายจ่ายประจำอะไรบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็น และดูไปที่หนี้ระยะยาว เช่น กู้เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ เพื่อจะได้ทำการจำแนกหนี้ที่มีอยู่ว่าติดหนี้รวมทั้งหมดเท่าไหร่ หนี้ระยะสั้นคืออะไรบ้าง หนี้ระยะยาวมีจำนวนเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยแพงแค่ไหน และระยะเวลาที่เราต้องจ่ายหนี้ เพื่อจะได้วางแผนจัดการกับหนี้ทั้งหมดได้ง่ายขึ้น
- ไม่ก่อหนี้เพิ่ม แน่นอนว่าเมื่อเจอผลกระทบจากโควิด-19 หลายคนจะขาดสภาพคล่องทางการเงิน การจะจัดการกับหนี้เก่าได้ต้องไม่เพิ่มหนี้ใหม่ หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น และใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อสร้างวินัยที่ดีในการใช้เงิน เพราะหากเรายังสร้างหนี้เพิ่มด้วยการนำบัตรเครดิตไปรูด หนี้จะทบไปเรื่อย ๆ พร้อมดอกเบี้ย และจำนวนหนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมู
- นำเงินชดเชยมาจ่ายหนี้บัตรเครดิต สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้างไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ออก หรือสมัครใจออกเองก็ตาม ทางบริษัทหรือผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเราตามกฎหมายแรงงานระบุ หลังจากที่กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในระหว่างหางานทำใหม่แล้วนั้น เงินส่วนที่เหลือให้แบ่งมาชำระหนี้บัตรเครดิต เพราะเมื่อมีการใช้หนี้แล้วจำนวนดอกเบี้ยจะลดลงด้วย ทำให้ผ่อนภาระลงได้

- ชำระขั้นต่ำ ในความเป็นจริงแล้วการชำระหนี้ขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะทำให้เงินต้นแทบไม่ลดแต่หมดไปกับการเสียดอกเบี้ย ทั้งยังทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แต่ในช่วงที่สภาวะการเงินฝืดเคืองจากการตกงาน การชำระขั้นต่ำจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็น ยิ่งธนาคารและสถาบันการเงินมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วยการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) และมีผลต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ทำให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้เท่าเดิมไหว
- รีบหางานใหม่ จริงอยู่ว่าในเวลานี้การหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคนถูกเลิกจ้างจำนวนมาก แต่การรีบหางานให้ได้เร็วที่สุดจะเป็นผลดีต่อตนเอง อาจจะลองเปลี่ยนสายงานสายอาชีพดู เพื่อให้ตนเองมีทางเลือกมากขึ้น ลองนึกดูว่าเรามีทักษะและความสามารถอะไรอื่น ๆ อีกบ้าง ที่จะนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ เพราะการว่างงานนาน ๆ ไม่เป็นผลดี ถึงจะมีเงินเก็บแต่ก็ต้องถูกนำมาใช้ไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงหนี้ต่าง ๆ ที่มี นานวันไปเงินก็ร่อยหรอลงได้ แถมยิ่งปล่อยเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยหนี้ก็ยิ่งบานขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากยังหางานใหม่ที่เป็นงานประจำทำยังไม่ได้ ลองมองเป็นอาชีพเสริมแทน ที่เราสามารถทำได้เพื่อให้มีรายได้เข้ามาบ้าง หรือถ้ามีทักษะในการทำอาหาร ทำขนม อาจจะลองทำขายตามตลาดนัด หรือขายออนไลน์ก็ได้
- ขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาใช้หนี้บัตรเครดิต หากตกงานเป็นเวลานานหลายเดือนและยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ อาจจำเป็นที่จะต้องนำสินทรัพย์ที่มีมาขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ไปก่อน เช่น สร้อยทอง แหวนเพชร หรือของมีค่าอื่น ๆ ที่พอจะขายได้ เพื่อจะได้มีเงินมาจัดการกับหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยที่รออยู่ แล้วเมื่อได้งานทำค่อยนำเงินที่ได้เก็บหอมรอมริบแล้วซื้อใหม่ก็ยังไม่สาย ดีกว่าปล่อยให้เสียประวัติจากการติดหนี้บัตรเครดิต เพราะจะส่งผลให้ในอนาคตจะทำธุรกรรมกู้หนี้ยืมสินลำบากไปด้วย
- ประหยัดมากขึ้น เมื่อเราตกงานและยังมีหนี้บัตรเครดิตที่ต้องใช้ การจะหาเงินหรือหารายได้ในช่วงเวลาแบบนี้อาจจะยากลำบาก การประหยัดและใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นจะเป็นอีกทางที่ช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนไหนที่ลดได้ก็ควรลด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการเงินของเราในปัจจุบัน เช่น การสมัครสมาชิกต่าง ๆ ที่ต้องมีการต่ออายุ หากเรายังไม่จำเป็นต้องใช้ก็ยกเลิกไปก่อน เพื่อเก็บเงินส่วนนั้นไว้ใช้จ่ายและไว้ใช้หนี้บัตรเครดิตแทน
การไม่เป็นหนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่เมื่อถึงภาวะจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการที่ตกงานกะทันหัน และไม่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองไว้ใช้จ่ายได้ยาวนานเพียงพอ การจัดการกับหนี้บัตรเครดิตตามวิธีต่าง ๆ ที่แนะนำไปข้างต้น จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนจัดการกับหนี้ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และถ้าถึงที่สุดจริง ๆ ที่ไม่สามารถใช้หนี้ได้แล้ว ให้ลองติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อขอเจรจาประนอมหนี้ หรือขอลดดอกเบี้ยลง เป็นอีกวิธีที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้